![](https://www.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5FZUILwlaZIt7ePozeh4YWHHOYkN26OaV1Wmq8AjRpSu4IND7gdFfT.jpg)
- สรุปภาพอย่างง่าย ไทม์ไลน์ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการน่าจะอยู่ที่ราวๆ 14-15 เดือน
- นายกรัฐมนตรีย้ำเป็นเรื่องของสภาฯ ห่วงชุมนุม 19 ก.ย.
ประชาชนคงได้เห็นผ่านตากันไปแล้ว กับไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้งพรรคการเมืองและผู้ชุมนุมต่างออกมาเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขมาตราต่างๆ ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายรัฐมนตรี รวมถึงการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อเป็นหนทางไปสู่ถนนประชาธิปไตยบนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ฉะนั้นแล้ว หากต้องการดูสรุปภาพรวมอย่างง่ายๆ ว่ามีขั้นตอนความเป็นมาอย่างไรนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ถึงไทม์ไลน์ต่างๆ ที่เคยมีประสบการณ์จากการเป็น กกต. และผ่านการจัดการเลือกตั้งมาหลายต่อหลายครั้งดังนี้
![](https://www.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04N1PIfZ42FnUl0Qm8oyxnEZ7Bigs841.jpg)
เริ่มนับหนึ่งสัปดาห์หน้า คำนวณคร่าวๆ ราว 15 เดือน
หากนับจุดเริ่มต้นการแก้รัฐธรรมนูญ จากวันที่ 23-24 ก.ย. 2563 ญัตติร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวในวาระที่ 1 จากนั้นตั้งกรรมาธิการวิสามัญ โดยอาจมีเวลา 30 วัน 40 วัน หรือ 60 วัน แต่หากเอาแบบใจเย็นมากก็ตีไปสัก 2 เดือน เพื่อรอสภาฯ เปิดอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย. 2563 จากนั้นเมื่อเปิดประชุมสภาฯ วันที่ 1 พ.ย. 2563 ก็จะดำเนินการต่อในวาระที่ 2 และ 3 ที่อาจจะลงมติในวันเดียวเสร็จ แล้วไปทำประชามติ 2 เดือน ถึงจุดนี้รวมเวลาเป็น 4 เดือน
เมื่อลงประชามติเสร็จแล้ว เป็นขั้นตอนการตั้ง ส.ส.ร. โดยในส่วนของการสรรหาคนมาเป็น ส.ส.ร. ตีเวลาประมาณ 2 เดือน ต่อด้วยร่างรัฐธรรมนูญอีก 4 เดือน เมื่อเสร็จสิ้นจึงเปิดรับฟังความเห็นประชาชนใช้เวลาอีก 2 เดือน ทำประชามติอีก 2 เดือน กระบวนการกว่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 14 เดือน (1 ปี 2 เดือน) แต่หากนับกระบวนการทางธุรการด้วยแล้วบวกลบอีก 1 เดือน รวมทั้งสิ้น 15 เดือน ก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา
![สมชัย ศรีสุทธิยากร](https://www.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04N1PIfZ42FnUl0Qm8cBlMiciuTvR76P.jpg)
แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศกร้าว ชุมนุม มธ.ท่าพระจันทร์
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เดือน ก.ย.นี้ ก็มีอีกหนึ่งกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ การชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะจัดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่แม้ทางมหาวิทยาลัยจะมีการออกมาบอกว่าไม่อนุญาตให้ดำเนินการนั้น แต่ทางกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็ยืนยันว่าจะมีกิจกรรม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” เกิดขึ้นตามกำหนดเดิมอย่างแน่นอน ซึ่ง 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องที่ประกาศมาตลอดคือ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อีกทั้งในวันที่ 19 ก.ย. นั้น ยังตรงกับครบรอบ 14 ปี รัฐประหารสมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ด้วย
“เราจะไม่เปลี่ยนสถานที่ ถ้าเขาไม่ให้เราใช้ เราก็จะใช้ ถ้าเขาล็อกประตูเราก็จะตัดแม่กุญแจออกมา เรายืนยันว่าในวันที่ 19 ก.ย. เราจะใช้สถานที่นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นพื้นที่ในการจัดชุมนุมแน่นอน จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อความยุติธรรม ต่อสู้กับความอยุติธรรม และสู้เพื่อประชาธิปไตย” รุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
![รุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล](https://www.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04N1PIfZ42FnUl0Qm8OY1sl6ASztjLrP.jpg)
“บิ๊กตู่” ไม่ขัดข้อง ห่วงชุมนุม หวั่น 60 กว่าล้านคนเสียประโยชน์
ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรี อย่าง บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แถลงย้ำหลังการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาฯ และรัฐบาลต้องหางบประมาณหากต้องทำประชามติ พร้อมยืนยันว่าส่วนตัวไม่ขัดข้อง ขอให้ทุกฝ่ายไปหารือกัน รวมถึงมีความเป็นห่วงการชุมนุมทางการเมือง อาจมีคนไม่หวังดีใช้จุดนี้ในการปลุกปั่นปลุกระดม ไม่ได้ห่วงตัวเองว่าจะอยู่หรือไป แต่ห่วงว่าแล้วรัฐบาลจะอยู่ตรงไหน เพราะหลายอย่างเป็นกลไกที่จะต้องแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น อย่ากดดันในเรื่องที่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าวุ่นวาย มีปัญหามากๆ บริหารราชการ บริหารงบประมาณไม่ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น คนอีก 60 กว่าล้านเสียประโยชน์จะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบตรงนี้ และขอให้ทุกคนช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ช่วงนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
![พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ภาพจาก ThaiGov)](https://www.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04N1PIfZ42FnUl0Qm8Us1EHul6U2khvt.jpg)
1 ปีกว่าๆ จะว่าเร็วไม่ก็ใช่ จะว่านานก็ไม่เชิง แต่คงไม่นานเกินรอสำหรับอะไรใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในหน้าการเมืองประเทศ รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฉะนั้น จับตาและติดตามไปด้วยกันว่าในท้ายที่สุดจะได้ออกมาอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังมากน้อยแค่ไหน...
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Taechita Vijitgrittapong
อ่านเพิ่มเติม...
"ใช้" - Google News
September 16, 2020 at 08:08AM
https://ift.tt/3c36zwl
ไทม์ไลน์แก้-ร่างรัฐธรรมนูญบนถนนประชาธิปไตย ใช้เวลาอีกนับปีกว่าจะได้มีฉบับใหม่ - ไทยรัฐ
"ใช้" - Google News
https://ift.tt/3dmEIHq
Home To Blog
Comments
Post a Comment